
ปลัด สธ. ห่วงค่าดัชนีความร้อนสูง ทำประชาชนเกิดฮีทสโตรก แนะคนทำงานกลางแดดดื่มน้ำมากๆ เข้าที่ร่มเป็นระยะ
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย ประเทศไทยยังมีค่าดัชนีความร้อนสูงเกิน 40 องศาเซลเซียสในหลายพื้นที่อาจทำให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงและผู้ที่ต้องอยู่กลางแจ้งเกิดฮีทสโตรกได้ แนะดื่มน้ำมากๆ หากจำเป็นต้องอยู่กลางแจ้ง ควรเลี่ยงสวมชุดสีเข้ม พักเข้าที่ร่มเป็นระยะ และหากมีอาการผิดปกติ เช่น วิงเวียน อ่อนเพลีย ตัวร้อนแต่เหงื่อไม่ออก ให้รีบเข้าที่ร่ม ดื่มน้ำมากๆ เช็ดตัวระบายความร้อน นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในปีนี้ ประเทศไทยต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่มีคลื่นความร้อน (Heat Wave) และอุณหภูมิร้อนถึงร้อนจัด หลายจังหวัดมีค่าดัชนีความร้อนเกิน 40 องศาเซลเซียส อาจทำให้เกิดโรคลมร้อน หรือฮีทสโตรก (Heat Stroke) ได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็กหญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน ควรอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ส่วนผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง หากอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน มีโอกาสเกิดฮีทสโตรกได้เช่นกัน ดังนั้น หากต้องทำงานกลางแจ้ง ควรเลี่ยงการสวมชุดที่มีสีเข้ม เนื่องจากจะดูดซับความร้อนได้ดี ดื่มน้ำมากๆ และสลับเข้าพักในที่ร่มเป็นระยะ เช่น ทุก 30 นาที หรือทุกชั่วโมง ทั้งนี้ อาการของโรคฮีทสโตรก ได้แก่ วิงเวียน อ่อนเพลีย ร่างกายมีความร้อนเพิ่มขึ้น เหงื่อไม่ค่อยออกผิวร้อน แดง แห้ง หากเริ่มมีอาการให้รีบเข้าที่ร่มหรือห้องที่มีความเย็น และดื่มน้ำมากๆ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้ผู้ป่วยนอนราบ ยกเท้าและสะโพกสูง คลายเสื้อผ้าให้หลวม/ถอดเสื้อผ้าออกเท่าที่จำเป็น ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัว ซอกคอ รักแร้ และศีรษะ ร่วมกับใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน หากอาการไม่ดีขึ้นให้รีบนำส่งโรงพยาบาล หรือโทรแจ้งสายด่วน 1669 ข้อมูลจากกลุ่มภารกิจด้านข่าวและสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักสารนิเทศ กระทรวงสาธารณสุข 8พ.ค.66

มารู้จัก กับซีเซียม 137
ซีเซียม 137 คืออะไร ว่า ซีเซียม 137 เป็นสารกัมมันตรังสี ที่มีลักษณะโลหะอ่อนมาก สีทองเงิน เป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้อง แต่มักจะจับตัวกับคลอไรด์กลายเป็นผงผลึก ปล่อยรังสีเบต้า และแกมม่า ใช้ในโรงงาน นอกจากนี้ ยังใช้เป็นเครื่องมือทางการแพทย์รักษามะเร็ง ซีเซียม-137 เอามาใช้ประโยชน์อย่างไร ซีเซียม-137 มีการนำมาใช้ไม่มากนัก ถ้าปริมาณน้อยๆ จะใช้สำหรับปรับเทียบเครื่องมือวัดรังสี ใช้เป็นต้นกำเนิดรังสีแกมมาในการวัดความหนาแน่นของเครื่องมือเจาะสำรวจน้ำมัน ใช้เป็นต้นกำเนิดรังสีในการรักษามะเร็ง และใช้ในเครื่องมือวัดทางอุตสาหกรรม เช่น เครื่องวัดความหนาของวัสดุ เครื่องวัดการไหลของของของเหลว ในการทดลองอาวุธนิวเคลียร์หรือเกิดอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ จะมีไอโซโทปรังสีซีเซียม-134 และซีเซียม-137 ถูกปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมเล็กน้อย และมากที่สุดมาจากอุบัติเหตุที่เชอร์โนบิลในอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลในปี 2005 จากนั้นในเดือนเมษายน ปี 2011 ก็มีการพบไอโซโทปรังสีเหล่านี้ในฝุ่นควันรั่วไหลออกมาจากเครื่องปฏิกรณ์โรงไฟฟ้าที่ฟุคุชิมา ญี่ปุ่น เป็นต้น อันตรายจากซีเซียม-137 ผลกระทบหรืออันตรายจากรังสีของวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ถ้าได้รับในระยะเวลาสั้นจะไม่ส่งผลอันตรายให้เห็นผลชัดเจน แต่ก่อความเสี่ยงที่อาจเกิดโรคมะเร็งได้ หากได้รับปริมาณรังสีต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ จะทำให้ผิวหนังแสบร้อน มีผื่นแดงคล้ายโดนน้ำร้อนลวกหรือโดนไฟไหม้ มีอาการคลื่นเหียนอาเจียนถ้าได้รับปริมาณรังสีสูงมากพอ ถ้าได้รับเข้าไปในร่างกายผ่านทางผิวหนังที่มีบาดแผล หรือโดยการหายใจ และรับประทานผงซีเซียม-137 เข้าไปในร่างกาย จะเข้าไปสะสมอยู่ในเนื้อเยื่ออ่อนของอวัยวะต่างๆ และแผ่รังสีให้แก่อวัยวะเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งจากอวัยวะที่ซีเซียม-137 เข้าไปสะสมอยู่


รัฐมนตรีว่าการ สธ. สรุปผลงาน 4 ปี ช่วยระบบสาธารณสุขไทยแข็งแกร่งขึ้น
เมื่อ 1 มี.ค.66 การประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 3 /66 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้กล่าวสรุปผลสำเร็จการดำเนินงาน 4 ปี ช่วยยกระดับระบบสาธารณสุขไทยแข็งแกร่งขึ้น ทั้งจากการควบคุมโรคโควิด 19 โครงการ 3 หมอดูแลประชาชนกว่า 33 ล้านคน 30 บาทรักษาทุกที่ครอบคลุมทั้งประเทศ มะเร็งรักษาทุกที่ 2.46 แสนคน ฟอกไตฟรี 8.2 หมื่นคน ปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติด สร้างขวัญกำลังใจผู้ปฏิบัติงาน ย้ำผู้บริหารเดินหน้า Expo ภูเก็ต 2028 เพื่อมุ่งสู่การเป็นเมดิคัล ฮับ เพิ่มโอกาสสร้างรายได้ประเทศไทย วันนี้ (1 มีนาคม 2566) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 3/2566 ว่า วันนี้เป็นการประชุมครั้งสุดท้ายในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากภายในเดือนนี้สภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาลจะสิ้นสุดวาระ แม้จะยังรักษาการต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ แต่ได้ถือโอกาสนี้ขอบคุณและชื่นชมการทำงานของผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่ร่วมกันฝ่าวิกฤตการณ์ต่างๆ ด้านสาธารณสุข และเพิ่มประสิทธิภาพของระบบสุขภาพ การรักษาพยาบาล การดูแลประชาชน โดยที่ประชุมได้มีการสรุปผลงานการดำเนินงาน 4 ปี ภายใต้นโยบาย “Health for Wealth” ประชาชนแข็งแรง เศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง ประเทศไทยแข็งแรง 6 ด้าน คือ 1.การให้ความสำคัญสูงสุดต่อโครงการพระราชดำริและโครงการเฉลิมพระเกียรติ ได้แก่ การจัดทำฟันเทียม/รากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติฯ 177,832 ราย, ราชทัณฑ์ปันสุขฯ ดูแลสุขภาพผู้ต้องขัง 279,812 ราย, พัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 21 แห่ง และควบคุมโรคหนอนพยาธิในพื้นที่ทุรกันดารฯ 800 โรงเรียน 2.ยกระดับระบบสุขภาพพื้นฐาน โดยระบบ 3 หมอ ดูแลประชาชน 33,432,465 ราย, 30 บาทรักษาทุกที่ ให้บริการแล้วครอบคลุมทั้งประเทศ, มะเร็งรักษาทุกที่ให้บริการแล้ว 246,444 คน และฟอกไตฟรีให้บริการแล้ว 82,463 คน 3.ยกระดับสมุนไพรไทย กัญชา กัญชง เพื่อการแพทย์และกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติดและศึกษาวิจัยพัฒนายาจากกัญชา กัญชง, ให้บริการคลินิกกัญชา 1,005 แห่ง ดูแลผู้ป่วย 103,694 ราย, ออกใบรับจดแจ้งการปลูก 1,095,785 ใบ, สร้างเงิน สร้างงาน ให้ประชาชน มีเม็ดเงินสะพัดกว่า 3 หมื่นล้านบาท 4.ควบคุมโรคระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 1 ด้านการฟื้นตัวจากโควิด 19, เป็นต้นแบบการควบคุมโควิด 19 อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเปิดประเทศได้เป็นชาติแรกๆ ในเอเชีย และช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว รวมทั้งสามารถควบคุมโรคฝีดาษลิงไม่ให้ลุกลาม 5.สร้างขวัญกำลังใจผู้ปฏิบัติงาน โดยมีการบรรจุข้าราชการรุ่นโควิด 45,684 อัตรา เพิ่มค่าตอบแทนเสี่ยงภัยบุคลากร และเพิ่มค่าตอบแทนพิเศษ อสม. 25 เดือน รวมถึงเพิ่มสวัสดิการ อสม. เช่น ฌาปนกิจสงเคราะห์ และห้องพิเศษ และ6.สร้างความร่วมมือด้านสาธารณสุขในระดับนานาชาติ โดยไทยได้รับการคัดเลือกจากประเทศในอาเซียน ให้จัดตั้งสำนักงานเลขาธิการศูนย์อาเซียน ด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ “4 ปีที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขมีการพัฒนาจนทำให้ระบบสาธารณสุขแข็งแกร่งขึ้น ทั้งจากสถานการณ์โควิด และได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาล ความพร้อมของหน่วยบริการต่างๆ ความร่วมมือร่วมใจขององค์กรในสังกัด มีการทำงานเป็นทีมที่ดี ทำให้ภาพรวมมีการพัฒนาทั้งด้านศักยภาพ ประสิทธิภาพ และคุณภาพของการให้บริการ ซึ่งได้ฝากให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและผู้บริหารทุกคนได้ช่วยกันเดินหน้านโยบายต่างๆ ต่อไป” นายอนุทินกล่าว นายอนุทินกล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังรับทราบความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงสาธารณสุขประจำปี 2566 เช่น การดำเนินงานกัญชาทางการแพทย์ การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การจัดบริการการแพทย์ทางไกล การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุอย่างเป็นระบบและทั่วถึง ทั้งการคัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุกว่า 1.6 ล้านคน การจัดตั้งคลินิกผู้สูงอายุ 171 แห่ง เป็นต้น สำหรับนโยบายที่ต้องการให้มีการสานต่อคือ การพัฒนากัญชาทางการแพทย์, 30 บาทรักษาทุกโรครักษาทุกที่, การดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง, โครงการ 3 หมอ, การพัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพดิจิทัล และระบบเทเลเมดิซีน ทั้งนี้ ได้ย้ำให้ช่วยกันผลักดันให้ไทยได้เป็นเจ้าภาพการจัดงาน Specialize Expo ภูเก็ต 2028 ซึ่งจะช่วยยกระดับประเทศไทยให้เป็นเมดิคัล ฮับ อย่างสมบูรณ์แบบ และสร้างโอกาส สร้างรายได้ให้กับประเทศอีกทางหนึ่ง ข้อมูลจาก กลุ่มภารกิจด้านข่าวและสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักสารนิเทศ กระทรวงสาธารณสุข

ในหลวง ร.10 พระราชทานพระบรมราโชวาท วันเด็กแห่งชาติ ปี 2566
เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2566 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราโชวาท สำหรับลงพิมพ์ในหนังสือวันเด็กแห่งชาติ ปี 2566 ดังนี้ "เด็กทุกคนเติบโตขึ้นได้ ด้วยอาศัยการโอบอุ้มช่วยเหลือ ทั้งจากผู้ใหญ่และสังคม การรู้และเห็นความดีของผู้ที่ได้โอบอุ้มช่วยเหลือนั้น นับเป็นคุณธรรมสำคัญประการหนึ่ง ชื่อว่าความกตัญญู เด็ก ๆ จึงควรเรียนรู้ และสร้างสมอบรมคุณธรรมข้อนี้ ให้บริบูรณ์"

นายกรัฐมนตรี มอบคำขวัญวันเด็ก 2566
สำหรับวันเด็กแห่งชาติของประเทศไทย ตรงกับวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมของทุกปี การจัดงานฉลองวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2566 ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันเสาร์ที่ 14 มกราคม 2566 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม มอบคำขวัญเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2566 ว่า "รู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่ความดี"

รางวัล Sasakawa Health Prize ประจำปี 2566
รางวัล “Sasakawa Health Prize” ก่อตั้งขึ้นในปี 2527 ตามความคิดริเริ่มและด้วยทุนสนับสนุนจากมูลนิธิอุตสาหกรรมการต่อเรือแห่งประเทศญี่ปุ่น และมูลนิธิ Sasakawa Memorial Health Foundation เพื่อมอบให้กับบุคคล สถาบัน องค์กรพัฒนาเอกชน หรือองค์กรที่ประสบความสำเร็จในการทำงานด้านนวัตกรรมที่โดดเด่นในการพัฒนาบริการปฐมภูมิ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การอนามัยโลก สมัยที่ 152 ได้ประกาศรับรองให้บุคลากรสาธารณสุขไทย ได้แก่ ศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์วิชัย เทียนถาวร อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก ได้รับรางวัล Sasakawa Health Prize ประจำปี 2566 โดยจะมีพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณในระหว่างการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 76 ในเดือนพฤษภาคม 2566 ศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์วิชัย เทียนถาวร อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก เพื่อเข้ารับรางวัล Sasakawa Health Prize จากบทบาทสำคัญในการดำเนินนโยบายการป้องกันและควบคุมโรคธาลัสซีเมียในประเทศไทย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมอนามัย โดยริเริ่มการรณรงค์ “เลือกคู่ เลือกครรภ์ เลือกคลอด ปลอดธาลัสซีเมีย” เพื่อลดความชุกของโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงในประเทศไทย รวมถึงเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งคณบดีและผู้ก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ได้ริเริ่มโครงการ “ปิงปองจราจรชีวิต 7 สี” ซึ่งเป็นเครื่องมือในการสื่อสารที่ช่วยให้ประชาชนปรับปรุงพฤติกรรมเพื่อป้องกันและควบคุมโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง รวมถึงเป็นการคัดกรองโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงขั้นพื้นฐานที่สามารถลดอัตราการรับประทานยา ประหยัดค่าเดินทางและค่ารักษาพยาบาลของประชาชน และลดภาระงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่ผ่านมา มีบุคลากรสาธารณสุขของไทยได้รับรางวัล Sasakawa Health Prize จำนวน 2 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์อมร นนทสุต ในปี 2529 และนายแพทย์ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข ในปี 2565

สธ. เผย “โควิด” อาจพบติดเชื้อเพิ่มช่วงสงกรานต์/เปิดเทอม เน้นฉีดวัคซีน หรือ LAAB ส่วน “ไข้หวัดนก” ให้ยกระดับเฝ้าระวัง
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์โรคโควิด 19 ในไทยยังคงตัว ปี 2566 อาจพบการติดเชื้อสูงขึ้นช่วงสงกรานต์และเปิดเทอม ย้ำกลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือฉีด LAAB รุกติดตามสถานการณ์ไวรัสและสายพันธุ์ต่อเนื่อง และเร่งทำนโยบายการฉีดวัคซีนและแนวทางการดูแลรักษาสำหรับปีหน้า ส่วนโรคไข้หวัดนกได้ยกระดับการเฝ้าระวังในโรงพยาบาลและชุมชน กรณีพบผู้ป่วยทางเดินหายใจมีประวัติใกล้ชิดผู้ป่วยสงสัย/สัมผัสสัตว์ปีกป่วยตาย หรือพบปอดอักเสบเป็นกลุ่มก้อน พร้อมคัดกรองผู้สัมผัสใกล้ชิดหากพบสัตว์ปีกป่วยตายจำนวนมาก วันนี้ (27 กุมภาพันธ์ 2566) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมติดตามสถานการณ์โรคโควิด 19 ว่า แนวโน้มพบผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโควิด 19 ลดลงทั้งแถบยุโรป สหรัฐอเมริกาและเอเชีย สำหรับประเทศไทย ข้อมูลวันที่ 19-25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล 204 ราย ผู้ป่วยอาการหนัก 66 ราย ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 44 ราย และผู้เสียชีวิต 9 ราย แนวโน้มอยู่ในระดับคงตัว โดยผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นกลุ่ม 608 ส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีน ได้รับวัคซีนเกิน 3 เดือน หรือไม่ได้ฉีดภูมิคุ้มกัน LAAB สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ พบติดเชื้อโควิด 19 ประปราย ซึ่งศักยภาพด้านการแพทย์ยังรองรับได้ ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าอาจจะพบการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นได้ในช่วงสงกรานต์และเปิดเทอมนี้ จึงเน้นการสื่อสารให้ประชาชนยังปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรค คือ ฉีดวัคซีนโควิด 19 หรือฉีด LAAB หากมีอาการป่วยทางเดินหายใจให้ตรวจคัดกรองด้วย ATK และสวมหน้ากากขณะอยู่ใกล้ชิดผู้อื่นส่วนผู้ป่วยกลุ่ม 608 ที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือ LAAB หากป่วยให้รีบเข้ารับการรักษา รวมทั้งให้สวมหน้ากากอนามัยในสถานที่สาธารณะ โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า ขนส่งสาธารณะ สำหรับเด็กเล็กแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยเมื่อมีอาการป่วยทางเดินหายใจ “กระทรวงสาธารณสุขยังคงเฝ้าระวังโรคโควิด 19 อย่างเข้มข้น โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีการติดตามสถานการณ์ไวรัสและสายพันธุ์ต่างๆ ต่อเนื่อง ส่วนกรมควบคุมโรคได้จัดทำยุทธศาสตร์และนโยบายการฉีดวัคซีนในปีหน้า ขณะที่กรมการแพทย์ได้จัดทำแนวทางการดูแลรักษาสำหรับปีหน้าด้วยเช่นกัน ทั้งการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ยา เวชภัณฑ์ และการให้การรักษา” นพ.โอภาสกล่าว นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้ติดตามสถานการณ์โรคไข้หวัดนกที่พบผู้ป่วยและเสียชีวิตในประเทศกัมพูชา และให้ยกระดับการเฝ้าระวังโรคและคัดกรองผู้ป่วยสงสัยไข้หวัดนกในสถานพยาบาล เพิ่มการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในชุมชน โดยแจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทราบและดำเนินการสอบสวนป้องกันควบคุมการระบาดของโรค กรณีที่พบผู้ป่วยทางเดินหายใจที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยสงสัยไข้หวัดนก หรือสัมผัสใกล้ชิดสัตว์ปีกป่วยตาย หรือมีประวัติเดินทางมาจากพื้นที่ระบาดภายใน 14 วัน หรือกรณีพบผู้ป่วยปอดอักเสบรุนแรงที่ไม่ทราบสาเหตุ หรือพบผู้ป่วยปอดอักเสบเป็นกลุ่มก้อน และหากพบสัตว์ปีกป่วยตายจำนวนมากโดยไม่ทราบสาเหตุให้มีการคัดกรองผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดสัตว์ปีกป่วยตายด้วย รวมถึงขอให้ทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนหรือจังหวัดที่มีการเลี้ยงสัตว์ปีกจำนวนมาก ประสานความร่วมมือกับเครือข่ายเพื่อซักซ้อมแผนการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดนก หากพบสัตว์ปีกป่วยตายจำนวนมากโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือสงสัยไข้หวัดนก หรือพบผู้ป่วยสงสัยไข้หวัดนกในพื้นที่ พร้อมทั้งให้สื่อสารกับผู้เลี้ยงสัตว์ปีก หากพบสัตว์ปีกป่วยตายจำนวนมากโดยไม่ทราบสาเหตุ ให้รับแจ้งเจ้าหน้าที่ หน่วยงานปศุสัตว์ อสม. อาสาสมัครปศุสัตว์ ทันที และให้งดชำแหละหรือนำไปรับประทานแบบไม่สุก หรือสุกๆ ดิบๆ ข้อมูลจาก กลุ่มภารกิจด้านข่าวและสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักสารนิเทศ กระทรวงสาธารณสุข